ชนชั้นวรรณะในอินเดีย
กำแพงแห่งวรรณะ
มนุษย์ทุกคนในสังคมเกิดมาพร้อมกับความแตกต่าง และเมื่อมีการรวมตัวกันเป็นสังคม ก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่บุคคลแต่ละคนเกิดความรู้ว่าตนเองเหนือกว่าหรือต่ำกว่าคนอื่นในด้านหนึ่งๆ และก็ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเช่นกันที่ความแตกต่างระหว่างบุคคลนี้จะถูกนำมาใช้ในการแบ่งชนชั้นทางสังคม ระบบวรรณะในอินเดียก็ดำเนินไปตามหลักการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเช่นกัน แต่แม้กระนั้น ระบบนี้ก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่ทำให้ต้องใช้คำศัพท์เฉพาะในภาษาอังกฤษอย่าง caste ขึ้นมาเรียกระบบนี้ ซึ่งแตกต่างจากการแบ่งชนชั้นทั่วไปอย่างมาก และก็ยัีงมีความซับซ้อนปลีกย่อยมากมาย จนทำให้ไม่สามารถที่จะสรุปเป็นสูตรตายตัวได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้ลักษณะเฉพาะดังกล่าว
วรรณะ (Varna – สิ่งที่ปกปิด, รูปลักษณ์ภายนอก, สี, สีผิว) เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาฮินดู ซึ่งมีปรากฏครั้งแรกในปุรุษสุกตะ (Purusha Sukta) ซึ่งเป็นโศลกหนึ่งในคัมภีร์ฤคเวทยุคหลัง ว่า วรรณะต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของพระผู้เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักรวาล ที่เรียกกันว่า บุรุษ โดยพราหมณ์นั้นเกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากมือ แพศย์เกิดจากลำตัว และศูทรนั้นเกิดจากเท้า การแบ่งกลุ่มเหล่านี้แสดงถึงการแบ่งกลุ่มตามลักษณะหน้าที่ของคนในสังคม และไม่ได้แสดงถึงการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มวรรณะตามลำดับขั้น (Hierarchy) เท่าไรนัก นอกจากนี้ ยังไม่มีการกล่าวถึงกลุ่มคนนอกวรรณะอย่างจัณฑาล
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนาแนวคิดเรื่องธรรมขึ้นมา ซึ่งคำว่า ธรรม (มาจาก ธฤ ธาตุ หมายถึง ธำรงไว้ ค้ำจุน) นี้ หมายถึงระเบียบของสรรพสิ่ง (Universal Order) หรือสภาพความเป็นปกติของสรรพสิ่ง โดยที่สังคมมนุษย์นั้นถือเป็นแบบย่อของระเบียบหรือสภาพดังกล่าวนี้ด้วย แนวคิดการแบ่งคนเป็นวรรณะตามลำดับขั้นก็เกิดพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปแบบชัดเจนขึ้นมา โดยถูกผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและส่วนหลักของแนวคิดเรื่องธรรมนี้ด้วย ทั้งนี้ก็เนื่องจากถือว่าการแบ่งวรรณะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์นั้นเอง ดังนั้น แนวคิดเรื่องวรรณะแบบลำดับขั้นนี้จึงถือเป็นกฏธรรมชาติ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนหรือละเลยก็จะทำให้เกิดเหตุอาเพศหรือความเสื่อมทรามของสังคมและของโลกขึ้นมา และแนวความคิดที่เกี่ยวเนื่องกันเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้นอย่างละเอียดซับซ้อนในชุดคัมภีร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีปฎิบัติของชาวฮินดูกระแสหลัก โดยหนึ่งในคัมภีร์ลูก ซึ่งเรียกกันว่า สมฤติ (มาจาก สมฤ ธาตุ แปลว่า จดจำ ดังนั้น สมฤติ ก็คือ สิ่งที่จดจำมา ซึ่งก็หมายถึงประเพณีปฏิบัตินั้นเอง) นั้น มนูสมฤติ (แต่งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3) ถือกันว่าทรงอิทธิพลและแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากได้กล่าวถึงระเบียบและหลักปฏิบัติของแต่ละวรรณะพร้อมทั้งระบุบทลงโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนไว้อย่างชัดเจน
วรรณะทั้ง 4 นี้ จะถูกกำหนดให้ทำอาชีพแตกต่างกัน กล่าวคือ วรรณะพราหมณ์จะรับผิดชอบเรื่องพิธีกรรมและศาสนกิจ วรรณะกษัตริย์มีหน้าที่ปกครองและปกป้องบ้านเมือง (ข้าราชการ ทหาร และกษัตริย์รวมถึงเชื่อพระวงศ์ด้วย) วรรณะแพศย์หรือไวศยะ จะทำการค้าและทำการเกษตร และวรรณะศูทรก็จะต้องทำงานเป็นแรงงานรับใช้สามวรรณะข้างต้น โดยบุคคลในวรรณะเหล่านี้จะไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ตรงกับวรรณะตัวเองได้ ยกเว้นในยามที่สภาพการณ์ไม่เอื่ออำนวย
สามวรรณะแรก เรียกกันว่า ทวิช (Dvija) ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดสองครั้ง โดยการเกิดจากครรภ์มารดาถือเป็นการเกิดครั้งที่หนึ่ง ส่วนการเกิดครั้งที่สองจะนับจากช่วงที่เข้าสู่วงจรชีวิตที่เรียกกันว่า อาศรม 4 ซึ่งเริ่มต้นด้วยพรมหมจารี (ช่วงชีวิตแห่งการเหล่าเรียนอ่านเขียนจากอาจารย์ในสำนักต่างๆ) จากนั้นก็ตามมาด้วย คฤหัสถ์ (ช่วงชีวิตของการทำงานเลี้ยงชีพและการอยู่ครองเรือน) ขั้นที่สามก็คือ วานปรัสถ์ (ช่วงชีวิตแห่งเกษียณจากชีวิตการทำงานและออกมาใช้ชีวิตอย่างสันโดษในป่า) และขั้นสุดท้าย คือ สันยาสี (ช่วงแห่งการดำรงชีวิตเป็นฤษีบำเพ็ญตบะเพื่อความหลุดพ้น และในบรรดาทวิชวรรณะนั้น คัมภีร์ธรรมศาสตร์ต่างถือว่าพราหมณ์เป็นวรรณะที่สูงสุด
การแต่งงานข้ามวรรณะกันสามารถกระทำได้ โดยหากฝ่ายชายมีวรรณะสูงกว่าหญิง จะเรียกว่าเป็นการแต่งงานแบบอนุโลม ส่วนการแต่งงานของหญิงวรรณะสูงกว่ากับชายวรรณะต่ำกว่าเรียกว่า ประติโลม ซึ่งเป็นสิ่งที่คัมภีร์ธรรมศาสตร์ไม่ยอมรับ สำหรับบุตรที่เกิดมาก็จะถือวรรณะตามบิดาของตน ซึ่งในกรณีนี้จะเห็นว่าการแต่งงานแบบอนุโลมจะได้เปรียบในเชิงสังคมมากกว่า หากบุคคลวรรณะต่ำต้องการจะเลือนไปเป็นวรรณะที่สูงขึ้นก็จะต้องให้ลูกหลานของตนแต่งงานกับคนวรรณะสูงวรรณะเดียวกันไปตลอดเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคนตามแต่วรรณะที่ตนสังกัด เช่น ถ้าศูทรต้องการให้ลูกหลานเป็นวรรณะพราหมณ์ก็จะต้องให้บรรดาลูกหลานของตนแต่งงานกับคนวรรณะพราหมณ์อย่างนี้เป็นระยะเวลาเจ็ดชั่วอายุคน หรือกรณีกษัตริย์อยากเป็นพราหมณ์ ก็จะต้องทำแบบเดียวกันแต่ใช้เวลาน้อยกว่าศูทรคือห้าชั่วอายุคนเท่านั้น ในขณะที่แพศย์ที่ต้องการเป็นพราหมณ์ต้องใช้เวลาหกชั่วอายุคน ในทางกลับกัน หากคนวรรณะสูงดำเนินชีวิตแบบคนวรรณะต่ำเป็นระยะเวลาชั่วอายุคน ลูกหลานรุ่นหลังก็จะตกลงมาอยู่ในวรรณะต่ำในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาระหว่างศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสต์ศักราชจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือและแถบลุ่มแม่น้ำคงคา – ยมุนา เป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของอนุทวีป จึงทำให้วัฒนธรรมพราหมณ์พระเวท ซึ่งอ้างอิงอยู่กับอำนาจดังกล่าว ไม่อาจขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของอนุทวีปได้ และนี่ก็ส่งผลให้ระบบวรรณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนี้ มีอิทธิพลจำกัดตัวอยู่เฉพาะบริเวณดังกล่าวไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากที่ไม่มีการค้นพบร่องรอยของระบบวรรณะแบบพราหมณ์พระเวทในภูมิภาคอื่นๆ ในช่วงสมัยดังกล่าวนั่นเอง นอกจากนี้ ยังพบว่าระบบวรรณะน่ามีความเข้มข้นไม่เท่ากันโดยจะเข้มข้นในชุมชนเมืองมากกว่าชุมชนชนบทและในดินแดนศูนย์กลางอำนาจมากกว่าบริมณฑลรอบนอก
ในช่วงตั้งแต่ยุคราชวงศ์คุปตะ (คริสต์ศตวรรษที่ 4 – 7) เป็นต้นไป การค้าระหว่างดินแดนอนุทวีปและดินแดนอื่นๆ ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้การค้าภายในระหว่างแว่นแคว้นต่างๆในอนุทวีปนั้นพลอยเติบโตตามไปด้วย ผลที่ตามมาก็คือเกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเกิดกลุ่มทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ขึ้นมาเพื่อรับกับการขยายตัวดังกล่าว ส่งผลให้เกิดมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งต่อมาศูนย์กลางเหล่านี้ก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นอาณาจักรท้องถิ่น
ในการกระบวนการสร้างอาณาจักรท้องถิ่นนี้ กลุ่มชนชั้นนำในอาณาจักรท้องถิ่นที่เกิดใหม่เหล่านี้ได้นำเอาอุดมการณ์ทางสังคมของวัฒนธรรมพราหมณ์พระเวทของอินเดียเหนือมาใช้สร้างความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจของตนและจัดระบบความสัมพันธ์ของอำนาจในสังคมของอาณาจักรตนเอง ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่นำมาใช้ก็คือ ระบบวรรณะที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่อาณาจักรใหม่เหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชนที่หลากหลายและมีสภาพทางเศรษฐกิจ – สังคมที่แตกต่างจากอินเดียเหนือ จึงทำให้ระบบวรรณะที่นำเข้าไปต้องถูกปรับให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น
ผลของการปะทะและปรับตัวเข้าหากันระหว่างระบบวรรณะกับความแตกต่างและหลากหลายในสังคมท้องถิ่นตามภูมิภาคอื่นๆ ก็คือ แต่ละวรรณะได้แตกออกเป็นหลาย ชาติ หรือ ชาต (Jati, Jat – ซึ่งมาจาก ชัน ธาตุ แปลว่า เกิด - ให้อ่านว่า ชา – ติ เพื่อไม่ให้สับสนกับคำว่า ชาติ ในภาษาไทย ที่มีความหมายแตกต่างกัน) ซึ่งก็คือ กลุ่มอาชีพที่แบ่งแยกย่อยในวรรณะนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากการที่อมรโฆษะซึ่งเป็นพจนานุกรมสันสกฤตในสมัยราชวงศ์คุปตะได้กล่าวถึงกลุ่มชาติใหม่ๆที่แยกออกมาจากวรรณะศูทรเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยมากจะเป็นกลุ่มช่างฝีมือหรือเหล่าผู้ผลิตสินค้า (ไม่ใช่ผู้ค้า เพราะหากเป็นผู้ค้าก็จะเป็นการง่ายที่จะจัดอยู่ในวรรณะแพศย์) ที่เกิดขึ้นมากในยุคนี้ นอกจากนี้ หลายกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มชนใหม่ๆ ก็ยังถูกรวมเข้ามาเป็นชาติในวรรณะต่างๆ ด้วย
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ยุครัฐสุลต่านเดลี ผ่านสมัยราชวงศ์โมกุล จนกระทั่งถึงกลางศตวรรษที่ 19 จำนวนชาติได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงเวลาอันยาวนานเกือบหนึ่งสหัสวรรษนี้ กษัตริย์มุสลิมราชวงศ์ต่างๆได้ขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนส่วนต่างๆของอนุทวีป และในขณะเดียวกันก็การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศในโลกมุสลิมและต่อมาก็กับชาวตะวันตก ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ก็ยิ่งผลักดันให้เกิดรัฐเล็กรัฐน้อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สังคมทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์หรือชนชั้นใหม่จำนวนมากที่รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองครั้งนี้
การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาติในครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และโครงสร้างของระบบวรรณะเดิมไปอย่างมาก ระบบวรรณะทั้งสี่ได้กลายเป็นระบบของชาติ โดยแต่ละชาติเริ่มมีลักษณะเป็นกลุ่มปิดและมีกฏเกณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและเคร่งครัดมากขึ้นด้วย กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างกัน เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำให้ชาติของตนเองแปดเปื้อนมลทิน บังคับให้สมาชิกแต่ละชาติต้องประกอบอาชีพตามบรรพบุรุษของตน นอกจากนี้ สมาชิกของแต่ละชาติยังไม่รับประทานอาหารร่วมกันอีกด้วย สภาพการแบ่งแยกเช่นนี้ ส่งผลให้ต้องมีอาหารที่รับประทานกันเฉพาะวรรณะนั้นไปโดยปริยาย เช่น พราหมณ์โดยทั่วไปจะนิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติ เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมที่เหนือกว่าชาติอื่นๆ ในขณะที่ชาติอื่นๆ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือรับจ้างต่างๆ สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ หรือการห้ามรับอาหารที่ปรุงสำเร็จจากกลุ่มชาติอื่นๆ ยกเว้นจากพราหมณ์
ยิ่งไปกว่านั้น หลายชาติได้ออกธรรมเนียมการแต่งกายและหลักปฏิบัติทางสังคมของตนเองเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งโดยมากจะเป็นไปในลักษณะของการสงวนรูปแบบพฤติกรรมหรือการใช้ทรัพยากรบางอย่างไว้กับชนชั้นหนึ่งๆ เช่น ในการสร้างบ้าน พวกศานนาร์ (Shannar) และอิจาวะ (Izhava) ซึ่งเป็นชาติที่ประกอบอาชีพทำน้ำตาลเมาแถบชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอินเดียใต้ตามลำดับ ไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างบ้านเกินหนึ่งชั้น แม้แต่คำที่ใช้เรียกชื่อบ้านก็แตกต่างกันเช่นกัน นอกจากนี้ ชาติเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกร่ม ใส่รองเท้า หรือเครื่องประดับที่ทำจากทอง รีดนมวัว ใช้ภาษาปกติสนทนากัน หรือห้ามใช้ทรัพยากรบางอย่าง เช่น แหล่งน้ำร่วมกับพราหมณ์ นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ชาติยังได้กำหนดระยะห่างในการยืนระหว่างพราหมณ์กับคนชาติต่ำไว้อีกด้วย
แม้แต่เรื่องการตั้งถิ่นฐาน ก็ยังถูกกำหนดโดยชาติ กล่าวคือ แต่ละชาติมักจะตั้งบ้านอยู่ใกล้ๆกันเป็นชุมชนเฉพาะของกลุ่มตนเอง ระบบวรรณะ- ชาติก็มีกฎเกณฑ์บังคับตำแหน่งของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาติต่างๆด้วย เช่น ชาติต่ำต้องตั้งบ้านเรือนอยู่ขอบหมู่บ้าน ชาติแตกต่างกันทำให้ได้สิทธิในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันด้วย โดยชาติสูงๆ จะได้สิทธิมากกว่าชาติต่ำๆ เช่นในเรื่องการลงโทษชาติต่ำจะได้รับโทษหนักกว่าชาติสูง หรือพราหมณ์ชาติหนึ่งได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีมากกว่าอีกชาติหนึ่ง
นอกจากนี้แล้ว ด้วยเหตุที่ในสมัยยุคหลังคุปตะเป็นต้นมา ได้เกิดลัทธิภักติ (Bhaktism) ขึ้นมาตามภูมิภาคต่างๆ ของอนุทวีป โดยเริ่มจากอินเดียใต้เป็นที่แรก ลัทธินี้เน้นความเท่าเทียมกันระหว่างชาติต่างๆ และมีผู้นำหลายคนมาจากชาติต่ำและชาติที่ไม่ใช่พราหมณ์ ด้วยเหตุนี้ ขบวนการภักติจึงเรียกร้องสิทธิในทางสังคมและศาสนาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งผูกขาดความหลุดพ้นทางวิญญาณมานานนับศตวรรษ โดยการตั้งกฎขึ้นมากีดกันชาติต่ำ ผลที่ตามมาก็คือ เหล่าชาติต่ำได้นับถือบรรดาผู้นำขบวนการภักติเหล่านี้ให้กลายเป็นเทพประจำชาติของตนเองไปโดยปริยาย และการนับถือเทพเจ้าประจำชาตินี้ก็ได้พัฒนาจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติ โดยได้มีการตั้งหลักธรรมที่เฉพาะของชาติตนขึ้นมา
กฎเกณฑ์ทางวรรณะ – ชาติ เหล่านี้จะถูกควบคุมดูแลโดยสภาแห่งชาติ ซึ่งเรียกกันว่า ปัญจยัต (Panchayat) หรือในปัจจุบันเรียกว่า ขาป ปัญจยัต (Khap Panchayat) โดยสภานี้จะทำหน้าที่ตัดสินคดีความทั้งทางแพ่งและอาญาที่เกิดขึ้นกับคนในชาติของตน ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้ามาก้าวก่ายในการทำงานของสภานี้ หากไม่ได้เป็นเรื่องที่กระเทือนถึงผลประโยชน์ของรัฐโดยรวม ดังนั้น จึงทำให้ชาติต่างๆ เป็นเสมือนรัฐๆ หนึ่งเลยก็ว่าได้ และอาณาจักรที่ประกอบด้วยชุมชนชาติต่างๆ ก็จะเป็นเสมือนสหรัฐนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ระบบวรรณะ – ชาติ ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันทั่วทั้งอินเดีย กล่าวคือ ระบบวรรณะ – ชาติ แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น บางชาติมีอยู่ในท้องที่หนึ่งเท่านั้น เช่น พวกราชปุต (Rajput) ซึ่งเป็นสามารถจัดอยู่ในวรรณะกษัตริย์ นั้น ก็จะมีพบเฉพาะในภูมิภาคอินเดียเหนือและตะวันตกเท่านั้น โดยเฉพาะในรัฐราชสถาน และแม้บางชาติจะสามารถพบได้มากกว่าหนึ่งท้องที่ แต่สถานภาพทางสังคมของชาตินั้นๆ อาจแตกต่างกันก็ได้ เช่น พวกที่ประกอบอาชีพสกัดน้ำมันงามีสถานภาพเป็นคนนอกวรรณะในอินเดียตะวันออก แต่ในอินเดียภาคกลางพวกนี้กลับมีสถานที่สูงส่ง และก็กลับถูกจัดเข้าวรรณะศูทรในภาคตะวันตกของอินเดีย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กฎเกณฑ์ของชาติก็ย่อมแตกต่างกันไปตามท้องที่ด้วย ดังจะเห็นจากที่ในบางท้องที่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับบางอย่างที่ท้องถิ่นอื่นมี เช่น ในรัฐปัญจาบ คนกวาดถนนควรถือไม้กวาดไว้ในมือหรือไม่ก็หนีบไว้ใต้รักแร้เพื่อแสดงสถานะตนเอง ซึ่งคนกวาดถนนในท้องที่อื่นไม่มีกฎเกณฑ์ให้ทำอย่างนี้ หรือแม้แต่ในกฏเรื่องเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันตามท้องที่ เช่น เรื่องการรับอาหารมารับประทาน ซึ่งโดยปกติแล้ว คนทั่วไปจะสามารถรับอาหารจากคนชาติเดียวกันเท่านั้น แต่พราหมณ์ในรัฐเบงกอลสามารถรับอาหารจากชาติที่อยู่ในวรรณะศูทรบางชาติได้
นอกจากนี้แล้ว วรรณะ – ชาติ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ กล่าวคือ ชาติหรือแม้แต่วรรณะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่น พวกราชปุต ในดินแดนรัฐราชสถานในปัจจุบัน ซึ่งจัดเป็นวรรณะกษัตริย์ นั้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 โดยคาดกันว่าชนพวกนี้แต่ก่อนคงเป็นพวกเกษตรกร แต่ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับท้องถิ่นหลังยุคราชวงศ์คุปตะ พวกนี้ก็เลยพัฒนากลายเป็นชนชั้นปกครองในที่สุด หรือพวกมราฐาในรัฐมหาราษฎร์ ซึ่งในช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 พวกนี้เป็นพวกกุนพี (Kunbi) ซึ่งเป็นเกษตรกร มาก่อน ต่อมาในศตวรรษที่ 16 พวกนี้กลายเป็นทหารในกองทัพของกษัตริย์มุสลิม และในศตวรรษที่ 17 ภายใต้การนำของศิวจี ประกอบกับการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิโมกุล พวกนี้ก็สามารถตั้งรัฐของตัวเองได้และกลายเป็นชนชั้นปกครองในที่สุด
ยิ่งไปกว่า มีบ่อยครั้งทีดีเดียว ที่วรรณะ – ชาติ ไม่ตรงกับอาชีพที่จารีตดังกล่าวกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น พราหมณ์จิตปาวันในรัฐมหาราษฎร์ ซึ่งตามปกติต้องทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ได้มาทำงานเป็นเสมียญในราชสำนักของมราฐา (Maratha) ในสมัยฉัตรปตีศาหู (Chhatrapati Shahu) และในขณะเดียวกันหลายคนก็เป็นเจ้าของที่ดินและทำกิจการด้านการธนาคาร และในกลางศตวรรษที่ 18 พวกนี้ก็ผันตัวเองมาคุมกองทัพและในที่สุดได้เข้ามาปกครองอาณาจักรมราฐาในที่สุด
มีหลายกรณีทีเดียวที่ชาติไม่ได้เป็นไปตามอยู่ในลำดับชั้นเชิงวรรณะ (Varna Hierarchy) กล่าวคือ ไม่ได้มีสถานภาพสูงต่ำตามที่วรรณะกำหนดว่าว่าจะเป็น เช่น พวกพนิยา (Baniya) ซึ่งเป็นพ่อค้าและนักธุรกิจ และพวกราชปุต ซึ่งมักจะเป็นพวกเศรษฐีที่ดิน ในรัฐคุชราต แม้จะมองว่าตนเองเป็นคนละพวกกัน และไม่แต่งงานข้ามกันหรือทำอะไรร่วมกันก็ตาม แต่ทั้งสองก็ไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าตนเอง โดยกรณีเช่นนี้จะพบว่าชาติเป็นแค่กลุ่มที่แสดงความแตกต่างเท่านั้น ไม่ได้แสดงการจัดลำดับสูงต่ำทางสังคม
นอกจากนี้ ในหลายกรณีอีกเช่นกันที่ความสูงต่ำทางด้านสถานภาพทางสังคมของแต่ละชาติแตกต่างกันตามแต่มุมของของบุคคลในแต่ละชาติ เช่น พวกชาฏ (Jat) ในรัฐปัญจาบ (ทั้งในอินเดียและปากีสถาน) หรยาณะ และราชสถาน ซึ่งโดยปกติแล้วพวกพราหมณ์จะมองว่าพวกนี้อยู่ในวรรณะศูทร แต่อย่างไรก็ตาม พวกชาฏไม่เคยมองว่าพราหมณ์สูงกว่าตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ยอมแสดงท่าทีเคารพพราหมณ์ หรือพราหมณ์เทศัสถะ ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนในของรัฐมหาราษฎร์ ก็จะมองว่าตัวเป็นวรรณะพราหมณ์ที่สูงศักดิ์ที่สุด ดังนั้นจึงมักมองกลุ่มพราหมณ์จิตปาวัน ซึ่งมาจากแถบชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของรัฐมหาราษฎร์ ว่าต่ำกว่าตนเอง
ปรากฏการณ์การแบ่งวรรณะ – ชาติ นี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในศาสนาฮินดูเท่านั้น แต่ยังกระทำกันในกลุ่มศาสนาอื่นอีกด้วย เช่น กลุ่มชาวคริสต์ในรัฐกรรณาตกะจะไม่แต่งงานกับชาวคริสต์ในรัฐเกเรล่า หรือแม้แต่ในท้องที่เดียวกัน ชาวคริสต์หรือมุสลิมที่มีบรรพบุรุษเป็นฮินดูวรรณะสูงก็จะไม่ยอมแต่งงานหรือรับประทานอาหารร่วมกับชาวคริสต์หรือมุสลิมที่มีกำพืดมาจากชาติต่ำหรือพวกนอกวรรณะ โดยทั้งนี้ก็เพราะว่าระบบวรรณะเป็นค่านิยมทางสังคมที่อยู่กับสังคมอินเดียมานานนับพันปีจนมีลักษณะก้าวพ้นพรมแดนทางศาสนาไปแล้ว อีกทั้ง สถานภาพของบุคคลในระบบวรรณะ – ชาติ ก็ยังมีความเกี่ยวพันกับเรื่องสถาพภาพทางสังคมของชาติตระกูลอย่างแยกกันไม่ออกอีกด้วย จึงทำให้เป็นเรื่องยากมากที่ศาสนิกเหล่านี้จะลืมอดีตความเป็นวรรณะของตนเองได้
จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าวรรณะ – ชาติ เป็นสถาบันทางสังคมที่มีโครงสร้างและการกลไกการทำงานเป็นระเบียบชัดเจนและมีความละเอียดซับซ้อนเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะเป็นทั้งจารีต เนื่องจากเป็นบรรทัดฐานที่กำหนดให้คนในสังคมทำตามสืบต่อกันมาอย่างเข้มงวดและรุนแรง และก็เป็นเสมือนกฏหมาย ในแง่ที่ว่ามีการกำหนดบทลงโทษไว้และก็มีสถาบันกลางที่ใช้อำนาจบังคับให้เป็นไปตามกฏที่กำหนดไว้และนอกจากนี้ วรรณะ – ชาติ ยังเป็นระบบการจัดกลุ่มทางสังคมแบบปิด แต่การปิดนั้นไม่เป็นการปิดแบบสม่ำเสมอและถาวรแต่อย่างใด หากแต่ยังมีพื้นที่ให้กับการเปลี่ยนแปลงในเชิงรายละเอียดหรือองค์ประกอบภายในอยู่เสมอ ในกรณีที่ปัจจัยภายนอกพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เปลี่ยนแปลงไปในช่วงต่างๆของประวัติศาสตร์
มั่นใจ 100% ในบริการ Thaifly.com ไม่ว่าจะเป็น จองทัวร์,ตั๋วเครื่องบิน,บริการแพคเกจทัวร์อื่นๆ ด้วยเครื่องหมายรับรองจากองค์กรต่างๆ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว
การันตีคุณภาพ บริการตามมาตรฐานแน่นอน